fbpx

เตรียมตัวอย่างไรในวิชาฟิสิกส์ กับชั้นปี ม.5 ที่หนักหนาขึ้น

– เปิดเทอม ม.5 มาได้สักพักแล้ว ปีนี้เป็นปีที่หนักหนาสำหรับชีวิตการเป็นเด็ก ม.ปลาย พอสมควรเลย หลังจากผ่าน ม.4 ไปหนึ่งปี ความลั้ลลาแบบเฟรชชี่กำลังจะต้องเปลี่ยนเป็นความเข้มข้นขึ้น –

พี่ฟาร์มมองว่า ภารกิจของน้องๆ ม.5 มีด้วยกันอยู่ 3 ด้านหลักๆ ที่จะต้องเตรียมตัวกันและทำให้สำเร็จในปีนี้ (ถ้าทำได้) อย่างแรกที่ต้องโฟกัส คือ

1. ด้านการค้นหาตัวเอง 

ตอน ม.4 เราเน้นไปที่การปรับตัวจาก ม.ต้น มาสู่ ม.ปลาย พอมา ม.5 เราจะเริ่มมองเรื่องโอกาสในการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยกันแล้ว 

การค้นหาความฝัน แรงบันดาลใจ และเป้าหมายที่ต้องการพิชิต เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราค้นพบว่าเราอยากเรียนต่อด้านไหน เป็นโจทย์ใหญ่ของชีวิตเลยนะ และเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยกำหนดทิศทางในการเตรียมตัวสอบตอน ม.6  นี่จึงเป็นภารกิจสำคัญของน้อง ม.5 นะจ๊ะ ใครสนใจพี่มีตัวช่วย ตามลิงค์นี้ไปกันได้เลย ……

ต่อมา ม.5 ต้องโฟกัสมากๆ เรื่องของการ …

2. บริหารจัดการเวลา 

ม.5 มักจะได้เป็นตัวหลักในการจัดกิจกรรมของโรงเรียน เน้นๆ เลยก็คือกีฬาสี ที่แต่ละโรงเรียนทุ่มเทจัดเต็มอลังการกันทุกปีๆ กิจกรรมหลายๆ อย่าง มักต้องการเวลาจากน้องๆ

ดังนั้นถ้าเราแบ่งเวลาไม่ดี เราจะเหลือเวลาให้กับการสั่งสมความรู้ทางวิชาการไม่เพียงพอ แล้วจะกระทบต่อภารกิจอย่างที่ 3 นั่นคือ..

3. ภารกิจทางวิชาการ 

เนื้อหาแทบทุกวิชาของ ม.5 หนักขึ้นหมดเลย เมื่อเทียบกับ ม.4 ที่เขามักจะให้เรียนเป็นตัวพื้นฐาน ตัวตั้งต้น ของพวกเรา ม.5 คือเป็นตัวอัดตัวจัดเต็ม และวันนี้เราจะมาพูดถึงวิชาการของฟิสิกส์ ม.5 ว่าน้องๆ จะเจอกับอะไรบ้าง หนักหนาขนาดไหน ควรเตรียมตัวยังไงให้เราผ่านมันไปได้และประสบผลสำเร็จ

ฟิสิกส์ ม.5 จะเน้นต่อยอดเนื้อหาจากความรู้ทางกลศาสตร์ ม.4 (เรียนกลศาสตร์ไป 7-8 บทแล้วนี่เนอะ)

เปิดเทอมมา เราจะเรียนกลศาสตร์บทสุดท้าย คือ การเคลื่อนที่แบบฮาร์มอนิกอย่างง่าย (ที่อาจจะไม่ง่ายสมชื่อเท่าไร)

บทนี้จะพูดถึงการสั่นกลับไปกลับมาซ้ำรอยเดิม ซึ่งเป็นวิธีการเคลื่อนที่หนึ่งที่พบได้ในหลายๆ ตัวอย่าง เช่น การสั่นสปริง การแกว่งตุ้ม

เนื่องจากมีการสั่นซ้ำไปซ้ำมา จึงสามารถแสดงฟังก์ชันการเคลื่อนที่ออกมาได้เป็นฟังก์ชันไซน์ ฟังก์ชันโคไซน์ ทำให้บทนี้ต้องอาศัยความรู้เรื่องสมการตรีโกณมิติเข้ามาอธิบาย ใครอ่อนเลขบทนี้ต้องเสริมความรู้สักหน่อย จะเรียนบทนี้ได้คล่องได้สบายขึ้นเยอะเลย

บทถัดๆ มา จะเริ่มนำกลศาสตร์ไปต่อยอดเพื่ออธิบาย “ปรากฎการณ์คลื่น” กันแล้ว

เริ่มจากบท คลื่น หลักๆ บทนี้เน้นให้เราทำความรู้จักว่าคลื่นคืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง และมีพฤติกรรมอย่างไร (สะท้อน หักเห เลี้ยวเบน แทรกสอด คลื่นนิ่ง) ความยากของมันอยู่ที่ว่า ในธรรมชาติคลื่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแผ่ออกไป นั่นคือมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา แต่พอมาอยู่ในตำรา เราวาดแสดงมันได้เพียงแค่ภาพนิ่ง ดังนั้นเราต้องตีความภาพนิ่งออกมาเป็นความเข้าใจที่ “เคลื่อนไหว” แรกๆ ที่เรียนยังไม่คุ้นเคย อาจพบว่ายาก แต่พอเข้าใจแล้ว จะพบว่าบทนี้เป็นอีกบทที่คว้าคะแนนสอบมาได้ไม่ยากเลย ขอให้ทำความเข้าใจ “พฤติกรรม” ของมันให้ดี

สองบทถัดมา เราจะเรียนเกี่ยวกับ “แสง” 

เนื่องจากเนื้อหาเกี่ยวกับแสงมีเยอะมาก ในหลักสูตรใหม่จึงแบ่งมันออกเป็นสองบท ตามวิธีการอธิบายแสง

บทแรกจะเป็น “แสงเชิงคลื่น” ใช้อธิบายพฤติกรรมแสงตอนแสดงการเลี้ยวเบนหรือแทรกสอด เนื้อหาจะเน้นไปที่การใช้งานอุปกรณ์ช่องคู่ ช่องเดี่ยว และเกรตติง มาแสดงสมบัติการแทรกสอด/เลี้ยวเบน ให้น้องๆ วิเคราะห์การทดลอง ถ้าได้ทำการทดลองในห้องเรียนจะดีมากๆ เลย เพราะจะเห็นภาพจริงๆ ว่าแสงเลี้ยวเบน/แทรกสอดออกมามีลักษณะอย่างไร มันจะเสริมความเข้าใจได้แบบแจ่มแจ้งและจำไม่รู้ลืมเลยเธออออ

บทถัดมาจะเป็น “แสงเชิงรังสี” จะเน้นไปที่การอธิบายรังสีของแสงที่ทำให้เกิดภาพ ทำให้เรามองเห็นได้ และการใช้งานกระจกและเลนส์ ซึ่งอธิบายได้ด้วยสมบัติการสะท้อนและหักเหของแสง รวมไปถึงปรากฎการณ์ทางแสงต่างๆ ที่เกิดจากการสะท้อน/หักเห นี้ด้วย 

เมื่อเทียบกับ ม.4 เทอม 1 ที่เรียนสามบทแบบชิลๆ ใน ม.5 เทอม 1 การเรียน 4 บทขนาดใหญ่แบบนี้จึงถือว่าเป็นการอัดเนื้อหาพอสมควร

ปัญหาที่เจอคือเวลาเรียนมักจะไม่พอ เพราะหัวข้อย่อยของบทเรียนทั้งสี่รวมๆ กันแล้วมีเยอะมาก แถมชีวิตเด็ก ม.5 ยังต้องทำกิจกรรมเยอะมากๆ อีก พี่จึงเป็นห่วงน้องๆ เรื่องการแบ่งเวลามากๆ เลยนะ

ยังไงเทอมนี้มันจะแน่นๆ ตึงๆ (และจะแน่นขึ้นไปอีกในเทอม 2 นะ) ขอให้ตั้งสติรับมือกับมันให้ดี

ถ้าเราวางแผนการจัดการไว้ดี พี่ว่าน้อง “เอาอยู่” แน่นอน

ม.5 แม้จะเป็นปีที่เหนื่อย แต่ก็จะเป็นปีที่สนุกมากๆ เลย ในความทรงจำของพวกเรา

ในชีวิตน้อง น้องจะผ่าน ม.5 ได้แค่รอบเดียวนะ ดังนั้นใช้ให้คุ้ม WORK HARD, PLAY HARD จุกๆ ไปเลยข่าาาา

พี่ฟาร์มส่งกำลังใจให้นะคะ

With Love.

Leave a Comment