ใครรู้สึกบ้างว่า “ผู้ชาย” เก่งฟิสิกส์ “กว่าผู้หญิง” คิดว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าคะ?
ที่แน่ๆ ยิ่งเชื่อกันมาก ก็ยิ่งปิดกั้นโอกาสของผู้หญิงจากวิชาฟิสิกส์นะ
โลกเราเชื่อแบบนี้มาแต่ยุคโบราณเลย จนกระทั่งเมื่อราว 50 ปีก่อน โลก “เบนกระแส” และเห็นคุณค่าต่อความสามารถผู้หญิงมากขึ้น นักวิจัยจึงพยายามสืบว่า “จริงหรือไม่” ที่ผู้ชายได้คะแนนดีกว่าผู้หญิง? นักการศึกษาและนักจิตวิทยาการเรียนรู้ทำงานวิจัยหลายสิบปี จนได้ข้อสรุปว่า ชายและหญิงไม่มีความแตกต่างกันเรื่องความปราดเปรื่องวิชาฟิสิกส์ ทั้งคะแนนเวลาเรียน คะแนนสอบเข้า ตำแหน่งงานสูงสุดทางฟิสิกส์ที่ผู้หญิงเป็นได้ …
ถ้าอย่างนั้น
อะไรหนอยังทำให้เรามองว่า
ผู้หญิงไม่เก่งฟิสิกส์เท่าผู้ชาย
พี่รวบรวมมาได้ 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. เราเห็นผู้หญิงทำอาชีพทางฟิสิกส์น้อย
อาชีพทางวิทยาศาสตร์หรือฟิสิกส์ของผู้หญิงยังมีน้อยไปจริงๆ นักเรียน ม.ปลาย หลายคนจึงไม่ได้เลือกเรียนต่อในสาขาวิชานี้ เพราะตัวอาชีพที่เอาความรู้ฟิสิกส์ไปใช้ตรงๆ ยังถูกเป็นงานอุตสาหกรรม โรงงาน หรืองานอวกาศ ที่ยังต้องใช้ความแข็งแรงของร่างกายเพื่อทำงานด้วย
อย่างไรก็ตาม จำข่าวดังเรื่องการถ่ายภาพ Blackhole สำเร็จเมื่อเมษายนที่ผ่านมาได้ไหม ผู้ค้นพบคือ Katie Bouman (ในรูป) และเธอเป็นผู้หญิงนะจ๊ะ ในอนาคตโลกของเราต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์มากกว่านี้แน่นอน เชื่อสิ
2. ผู้หญิงได้คะแนนสอบน้อยกว่า (แต่สาเหตุมาจากอาจารย์…)
เรื่องนี้มีคำอธิบาย ยาวนิดนึงนะ
- มองเรื่องนี้ให้เป็นวัฎจักรก่อน จากข้อข้างบน ที่ว่าผู้หญิงมาทางสายฟิสิกส์น้อย ดังนั้นเราจึงได้ครูสอนฟิสิกส์ชายกันมา
- โดยธรรมชาติ ครูผู้ชายจะให้ความสนใจกับนักเรียนชายมากกว่า (เพราะพูดภาษาเดียวกันเป็นส่วนใหญ่)
- นักเรียนชาย… จึงเกิดการเรียนรู้ที่ “ดีกว่า” คะแนนนักเรียนชายเลยดีกว่า
อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยเชิงกึ่งทดลองพบว่า ในห้องเรียนที่ครูสามารถแบ่งความสนใจ ถามตอบนักเรียนชาย-หญิงได้เท่าๆ กัน คะแนนของผู้หญิงก็ดีขึ้นผิดหูผิดตาเลย นอกจากนี้ ยังมีอีกการทดลอง “แยกเพศ” ในการเรียนฟิสิกส์ เพื่อเทียบความสามารถกันตรงๆ เลย คือแบ่งห้องหญิงล้วน ชายล้วน เลือกเอาเด็กที่เก่งพอๆ กันตั้งแต่แรก เรียนเหมือนกันทุกอย่าง พอพ้นเทอมเอาคะแนนสองห้องมาเทียบกัน ปรากฎว่าห้องผู้หญิงไม่แพ้จ้า
เพราะฉะนั้น ผู้หญิงก็ทำคะแนนได้ดีนะ ถ้าตั้งใจจริงต้องทำได้แน่
3. นักเรียนหญิงลังเลที่จะมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เพราะ… “มันแมนไป”
นี่ก็แปลกแต่จริง อาจเพราะด้วยมีแต่ผู้ชายเรียนฟิสิกส์ ฟิสิกส์เลยถูกมองว่าเป็นวิชาของผู้ชาย! เรียกได้ว่าเป็น Sterotype ของวิชาไปซะงั้น
(คนจะชอบพูดกันว่าว่าผู้ชายเก่งวิทย์ ผู้หญิงเก่งไทยสังคม…) ดังนั้น เมื่อวิชาความรู้ที่ควรเป็น “สากล” กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาย ผู้หญิงที่ยกมือตอบก็จะดูเปรี้ยวๆ แมนๆ หน่อย นักเรียนชายจึงดูโดดเด่นมากกว่า
ทั้งนี้ มีงานวิจัยพบว่า ในวิชาฟิสิกส์นักเรียนหญิงยกมือตอบอาจารย์ในห้องน้อยกว่านักเรียนชาย หรือเวลาสงสัยก็ไม่ถาม จึงทำให้ได้คะแนนออกมาน้อยกว่านั่นเอง ทั้งที่จริง เป็นผู้หญิงเรียนวิทยาศาสตร์หรือฟิสิกส์แล้วช่างซักถาม หรือมีส่วนร่วม (แบบพี่เฌอ) ก็ดูเท่ไม่หยอกน้า
4. นักเรียนชายดูได้ใช้ความรู้ฟิสิกส์ในชีวิตประจำมากกว่า
กิจกรรมของนักเรียนชายและนักเรียนหญิงส่วนใหญ่ต่างกัน ผู้ชายคลุกคลีกับเกมความเร็ว ความแรง การปีนป่าย ถูกฝึกให้สังเกตความเปลี่ยนแปลงง่ายๆ รอบตัว แถมได้ใช้เครื่องมือกลไกมากกว่าเด็กหญิง
สิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้เด็กชายโตขึ้นมาเข้าใจคอนเซปท์ของฟิสิกส์ได้เร็วกว่าเด็กหญิง เพราะมี “ความมั่นใจ” ที่ติดตัวมาทำให้กล้ากระโจนเรียนรู้ทันที (ไม่ได้เกี่ยวกับว่าสมองดีกว่าแต่อย่างใด)
จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 สาเหตุนี้ทำให้นักเรียนชายดูเก่งกว่า ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป
เพราะไม่ว่าจะเพศอะไร หากน้องมีเป้าหมาย “อยากทำคะแนนฟิสิกส์ให้ดี” เพื่อคณะหรือตัวเลือกที่ต้องการ ก่อนอื่น ต้องเริ่มจูนที่ความคิดก่อน ว่า ฟิสิกส์ไม่ใช่วิชาของผู้ชายนะ แต่เป็นวิชาของทุกคน
นอกจากนี้ ลองฝึกมองเรื่องรอบตัวด้วยมุมมองของฟิสิกส์มากขึ้น เห็นน้ำเดือดคิดถึงอุณหภูมิ เห็นพัดลมเป่าคิดถึงเรื่องการไหล จะยกของหนักๆ อะไรคิดถึงนิวตัน แบบนี้จะทำให้เราได้ทบทวนไปในตัว
สุดท้ายนี้ การมีส่วนร่วมในห้องเรียนสำคัญมาก ถ้าไม่กล้ายกมือตอบคุณครู แอบตอบไปในใจ ก็ได้ประโยชน์เช่นกัน
แหล่งที่มา
- Hoffmann, L. (2002). Promoting girls’ interest and achievement in physics classes for beginners. Learning and Instruction, 12(4), 447e465.
- Kessels, U. (2005). Fitting into the stereotype: how gender-stereotyped perceptions of prototypic peers relate to liking for school subjects. European Journal of Psychology of Education, 20(3), 309e323.