fbpx

31 มีนาคม เรอเน เดคาร์ต | บิดาแห่งเรขาคณิตวิเคราะห์ ผู้สร้างโลกใบใหม่ด้วยระบบพิกัดแกน X แกน Y

ในอดีตนั้น #วิชาพีชคณิต (บวก ลบ คูณ หาร ฯลฯ) กับวิชา #เรขาคณิต ถือเป็น 2 วิชาที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ปัญหาทางเรขาคณิต ยังไม่มีวิธีที่จะใช้พีชคณิตแก้ปัญหาออกมาได้ จนกระทั่ง วิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ ได้ถือกำเนิดขึ้น….โดยบุรุษผู้นี้ค่ะ #เรอเน เดคาร์ต (René Descartes)

.

วันที่ 31 มีนาคมเป็นวันคล้ายวันเกิดของคุณเดคาร์ต 🎁 พี่ฟาร์มจึงอยากพาน้องๆ มาร่วมรำลึกถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่ในระดับที่ “เปลี่ยนโลก” ของคุณเค้ากันนะคะ

.

เมื่อวันนี้ในปี 1596 (427 ปีที่แล้ว) เด็กชายเรอเน เดคาร์ตได้ถือกำเนิดมาในครอบครัวนักการเมืองที่เมืองตูเรนแห่งฝรั่งเศส เมื่อคุณแม่คลอดทารกน้อยออกมาได้ไม่นานก็ป่วยเป็นวัณโรคจนต้องจากโลกนี้ไป เด็กชายเดคาร์ตเพิ่งจะอายุได้สองสามขวบเองค่ะ หลังจากนั้นไม่นานคุณพ่อก็แต่งงานใหม่ ทำให้คุณเรอเน่ถูกส่งไปอยู่กับยาย

.

คุณเดคาร์ตตอนเด็กๆ นั้นร่างกายอ่อนแอ ป่วยบ่อย ทำให้ได้เข้าเรียนช้ากว่าเกณฑ์ กว่าจะได้เข้าเรียนก็อายุปาเข้าไป 11 ขวบแล้ว ซึ่งการได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประจำเมืองลาเฟลคเชอตอนนั้น ทำให้เขาได้เรียนวิชามากมายจนเฉลียวฉลาด

.

ทั้งตรรกะ จริยธรรม คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และอภิปรัชญา (​เมตาฟิสิกส์) หลังจบจากโรงเรียนตอนอายุ 18 ปี ก็เรียนต่อวิชากฎหมาย (ตามใบสั่งของคุณพ่อ) จนจบการศึกษาในสองปีให้หลังก็ย้ายไปยังกรุงปารีส

.

คุณเดคาร์ตชอบศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง ผ่านทาง “#การครุ่นคิด” เขาชอบเดินทางไปพบปะผู้คนตามเมืองต่างๆ ยิ่งหลากหลายยิ่งได้สั่งสมความคิดและประสบการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น

.

📍 จนเมื่ออายุ 20 ปี เขาสมัครเป็นทหารรับจ้างที่กองทัพโปรแตสแตนท์แห่งสาธารณรัฐดัตช์ (เนเธอแลนด์ในปัจจุบัน) พออายุได้ 23 ปี ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นทหารรับจ้างแห่งดยุกคาธอลิคต่อ เมื่อจบภารกิจสงครามในปี 1620 ก็ได้ลาออกจากกองทัพแล้วใช้เงินเก็บที่มีเดินทางทั่วยุโรปไปศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองต่อ จนกลับมาอยู่เนเธอร์แลนด์ถาวรในปี 1628

.

คุณเดคาร์ตมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่กาลิเลโอกำลังดังสุดขีดนะคะ แต่เป็นความดังพลุแตกในเรื่องที่กำลังถูกสาปค่าาาา ⚠️⚠️⚠️

.

น้องๆ จำกันได้ไหมว่าก่อนนี้ #ศาสนจักร มีคำสอนว่าโลก 🌎 เป็นศูนย์กลางของจักรวาล พอ #กาลิเลโอ ตีพิมพ์หนังสือ Dialogue ที่สนับสนุนแนวคิดดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ฝ่าฝืนคำสอนของ (คนของ) พระเจ้า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ศาสนจักรยอมไม่ได้ค่ะ! นอกจากประณามแล้วยังถูกแบนถูกลงโทษอีกสารพัด

.

คุณเดคาร์ตก็ทราบกระแสเรื่องนี้ดี ตอนนั้นแกกำลังจะตีพิมพ์หนังสือ The World ซึ่งเนื้อหาเป็นศาสตร์สมัยใหม่อัน #ต้องห้าม สำหรับคริสตจักรเช่นกัน แกก็เลยต้องเหยียบเบรคไว้ก่อน แกเปลี่ยนวิธีตีพิมพ์เป็นการดึงเนื้อหาบางส่วนจากเล่มนี้ออกมาเขียนใหม่เป็นอีกเล่มนึงชื่อ Discourse on the Method ซึ่งได้รับการยอมรับไปทั่วยุโรปถึงความปังปุริเย่

.

ใน Discourse on the Method นี้ จริงๆ แล้วเป็นหนังสือปรัชญา มุ่งเน้นไปที่การวางกฏเกณฑ์ทางความคิด นอกจากหลักเกณฑ์ทางปรัชญาและความคิดแล้ว ยังมีบทที่เขียนถึงวิชาฟิสิกส์และคณิตศาตร์อีก 3 เรื่อง ได้แก่ The Meteors (อุกกาบาต) , Dioptrics (วิชาที่ว่าด้วยการหักเหแสง) และ Geometry (เรขาคณิต) ซึ่งในบทเรขาคณิตนี้เองที่วิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ (Analytic Geometry) ได้ถือกำเนิดขึ้นค่ะ

.

.

มีเรื่องเล่ากันต่อๆ กันมาเกี่ยวกับกำเนิดเรขาคณิตว่า มาจากแมลงวันตัวหนึ่งค่ะ เอ๊ะ อะไรยังไง ??🌝

.

มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่คุณเดคาร์ตนอนอยู่บนเตียง เขาเหลือบไปเห็นแมลงวันไต่อยู่บนเพดานห้อง หลังจากจ้องมองมันอยู่สักพักเขาก็เกิดความคิดที่อยากจะระบุตำแหน่งของมันออกมาให้ใครก็ตามที่เข้าใจวิธีการระบุนี้ ไม่ว่าจะอยู่ที่นี่กับเขาหรือไม่ ก็เข้าใจว่าแมลงวันอยู่ตรงตำแหน่งไหนของเพดานได้

.

เขา #จินตนาการ ว่าผนังห้องคือ #แกนสองแกนที่ตั้งฉากกัน

.

ตำแหน่งของแมลงวันสามารถระบุได้จากระยะทางของมันที่อยู่ห่างจากแกนทั้งสอง 👀 (คงประมาณว่าจุดที่แมลงวันอยู่ ห่างจากแกนราบสูงขึ้นมากี่หน่วย ห่างจากแกนดิ่งออกไปกี่หน่วย เป็นระยะ x y ประมาณนั้น)

.

นี่แหละค่ะ กำเนิดแห่งเรขาคณิตวิเคราะห์ที่นำไปสู่ระบบการบอกตำแหน่งบนระนาบจากแกนสองแกนที่ตั้งฉากกันที่เรียกว่า Cartesian Coordinating System (Cartesian แปลว่า Follower of Descartes หรือผู้ติดตามของเดคาร์ตค่ะ มันจะเป็นภาษาแบบฝรั่งเศสฝรั่งเศสอ่ะนะ)

.

แนวคิดแห่ง #ระบบพิกัดคาร์ทีเซียน นี้ได้ถูกพัฒนาต่อด้วยศิษยานุศิษย์และคนรุ่นต่อๆ มา จนกลายเป็นวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ในปัจจุบัน ในวันนั้นคุณเดคาร์ตสามารถแสดงให้เห็นว่า เรื่องราวในวิชาเรขาคณิตอย่างพวกเส้นตรง เส้นโค้ง วงรี วงกลม ไฮเปอร์โบลา พาราโบลา และอีกล้านแปดอย่าง สามารถแทนได้ด้วยสมการพีชคณิต การแก้โจทย์เรขาคณิตที่แต่ก่อนต้องวาดภาพลากเส้นเท่านั้น จึงสามารถใช้การแก้สมการเข้ามาตอบโจทย์ได้

.

✨ น้องๆ ต้องนึกถึงโลกเมื่อสี่ห้าร้อยปีที่แล้วที่พีชคณิตกับเรขาฯ เหมือนเป็นโลกคนละใบ พอมีคนเชื่อมโยงมันเข้าด้วยกันได้ มันจะน่าตื่นตะลึงขนาดไหนนะ … และนิวตันเองก็ได้ใช้องค์ความรู้นี้แหละมาต่อยอดพัฒนาจนเกิดเป็นวิชา “แคลคูลัส” ในเวลาต่อมา

.

จริงๆ ยังมีผลงานอีกมากกมายที่คุณเดคาร์ตได้คิดค้นไว้ เช่น วิธีหาความจริงในวิชาวิทยาศาสตร์ การเชื่อมโยงตรรกะและวิธีพิสูจน์ทางคณิตศาตร์เพื่อตอบปัญหาปริศนาลึกลับต่างๆ วิชาปรัชญาที่มุ่งใช้ “การคิดหาเหตุผล” เป็นที่มาของความรู้ จนเกิดวาทะอันโด่งดังไปทั่วโลกที่ว่า I think, therefore I am (เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่) ฯลฯ

.

ด้วยความยิ่งใหญ่ในผลงานที่ทำให้วิทยาการโลกก้าวไปข้างหน้าสุดๆ แบบนี้ คุณเดการ์ตจึงได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์” และยังเป็น “#บิดาแห่งวิชาปรัชญาสมัยใหม่” อีกด้วย

.

ในวันคล้ายวันเกิดของคุณเรอเน่ เดคาร์ตในวันนี้ ฟิสิกส์ฟาร์มก็ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการระลึกถึงสิ่งที่คุณเดคาร์ตได้ทำด้วยความรู้สึกขอบคุณค่ะ

.

👏 ด้วยความโด่งดังในฐานะนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ แม้กระทั่งพระราชินีแห่งสวีเดนก็ทรงชื่นชอบในผลงานของเขา จนปี 1649 ทรงเชิญคุณเดคาร์ตมาร่วมก่อตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งราชสำนักสวีเดน ถึงแม้คุณเดคาร์ตจะลังเลอยู่พักใหญ่ แต่สุดท้ายก็ตอบตกลง

.

แต่น่าเสียดายที่การมาทำงานที่สวีเดนที่ซึ่งอากาศหนาวเย็นอย่างโหดร้าย จะทำให้เขาป่วยเป็นโรคปอดบวมในปีต่อมาจนเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 53 ปี (เอาจริงๆ ก็สงสัยว่าถ้าไม่มาก็น่าจะอายุยืนกว่านี้มั๊ยนะ)

.

ทุกวันนี้ แทบทุกวงการมีการนำการวาดกราฟ แสดงแกนตั้งแกนนอน ไปใช้กันอย่างกว้างขวาง ทั้งงานวิทย์ คณิต วิศวกรรม การแพทย์ เศรษฐศาสตร์ บัญชี การตลาด ล้านแปดอย่างจริงๆ ค่ะ

.

😊 เป็นยังไงกันบ้างคะกับเรื่องราวผู้ให้กำเนินระบบพิกัด x y

ใครเป็นทีมอ่านจบ กด 1 รายงานตัวกันหน่อยน้าาาา อิอิ

#วันสำคัญ#นักฟิสิกส์#นักวิทยาศาสตร์#ฟิสิกส์

Leave a Comment